วันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

บันทึกการเรียนรู้

บันทึกการเรียนครั้งที่ 1
วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
 วันนี้เป็นวันแรกของภาคเรียนที่2 ในรายวิชาการจัดประสบการณ์คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย 
อาจารย์บอกจุดมุ่งหมายรายวิชา ดังนี้
 1.คุณธรรมจริยธรรม
 2.ความรู้
 3.ทักษะทางปัญญา
 4.ทักษะระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
 5.ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
 6.ทักษะการจัดการเรียนรู้
อาจารย์ให้หาบทความ วิจัย สื่อการสอนที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในเด็กปฐมวัย แนะนำวิธีการสร้าง Blog
และให้พวกเราทำแบบฝึกหัดก่อนเรียนเพื่อวัดความรู้ของแต่ละคน



>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังอาจารย์ และแต่งกายสุภาพเรียบร้อยค่ะ
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังอาจารย์ มีคุยเล่นบ้างแต่เป็นส่วนน้อย
 ประเมินผู้สอน      วันนี้อาจารย์ชี้แจงเรื่องงานที่มอบหมายอย่างชัดเจนดีค่ะ


บันทึกการเรียนครั้งที่ 2
วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้อาจารย์ให้พวกเราทำแผนผังความคิดหัวข้อเรื่อง การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย โดยให้แยกคำในหัวข้อออกมา ครั้งแรกที่ทำก็มีการผิดพลาดซึ่งอาจารย์ได้บอกการทำที่ถูกต้องและให้พวกเราแก้ใหม่




นี่คือแผนผังความคิดแผ่นแรกที่ฉันทำผิด


นี่คือแผนผังความคิดแผ่นที่2ที่แก้ไขถูกต้อง


เมื่อทำแผนผังความคิดเสร็จแล้ว อาจารย์ให้พวกเราหยิบกระดาษใบเล็กๆเพื่อไปออกแบบชื่อของตัวเองโดยเขียนให้ติดกัน และอาจารย์ให้ทำกิจกรรมโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่ตื่นก่อน08:00 น.และกลุ่มที่ตื่นหลัง08:00 น.นำชื่อตัวเองมาติดบนกระดานในฝั่งเวลาที่ตนเองตื่น สามารถประยุกต์ใช้สอนเด็กเรื่องนับชื่อเพื่อนๆที่อยู่บนกระดาน จำนวนมาก-น้อย การบวกลบเลขง่ายๆ ผ่านกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันของเด็กโดยผ่านการปฏิบัติ




>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังอาจารย์แต่มีคุยกับเพื่อนบ้างและแต่งกายสุภาพเรียบร้อยค่ะ
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา แต่วันนี้เพื่อนคุยเก่งมากค่ะ
 ประเมินผู้สอน      อาจารย์อธิบายและบอกเป็นรายคนอย่างละเอียดว่าจุดไหนที่ควรจะได้รับการแก้ไขในแผนผังความคิด ทำให้พวกเราเกิดการเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ค่ะ


บันทึกการเรียนครั้งที่ 3
วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้อาจารย์ติดประชุมแต่ได้มอบหมายงานเอาไว้ให้ทำคือออกแบบสื่อคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ผลงานของฉันชื่อว่า "M&M Addition"




>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา ตั้งใจทำงานจนเสร็จค่ะ
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจทำงาน คุยกันน้อยมาก

 ประเมินผู้สอน      อาจารย์ไม่ได้เข้าสอนเพราะติดประชุม แต่ก็ยังสนใจนักศึกษา ให้ทำงานและคอยถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถามความคืบหน้าและให้ส่งงานไปในไลน์กลุ่ม



บันทึกการเรียนครั้งที่ 4
วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
-วันนี้อาจารย์แจกกระดาษให้คนละ 1แผ่น เมื่อกระดาษเหลือหรือขาดก็ให้พวกเรานำไปขียนเป็นภาษาทางคณิตศาสตร์ อาจารย์แจกกระดาษให้พับเป็นสองส่วน โดยในแต่ละครั้งส่วนของกระดาษจะเท่ากันหรือไม่ก็ได้
-อาจารย์สอนโดยการตั้งคำถามต่างๆสรุปได้ดังนี้
 1.คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
 2.พัฒนาการคือการแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ
 3.ลักษณะของพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับขั้นตอนอย่างต่อเนื่องเสมือนขั้นบันได
 4.พัฒนาการด้านสติปัญญาของเพียเจต์ ขั้นแรกคือขั้นรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง5 เมื่อความรู้ใหม่   สอดคล้องกับความรู้เดิม จะเกิดเป็นความรู้ใหม่



>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังอาจารย์
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังและตอบคำถามอาจารย์
 ประเมินผู้สอน      อาจารย์สอนโดยการตั้งคำถาม อาจจะงงๆ แต่ก็เข้าใจค่ะ


บันทึกการเรียนครั้งที่ 5
วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561


>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้เริ่มจากการที่ รุ่งฤดีและรัตนาได้ออกไปรายงานบทความและวิจัยเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย เพื่อนรายงานเป็น2คนแรกอาจารย์จึงได้ให้คำแนะนำเพื่อให้คนอื่นนำไปปรับปรุงและแก้ไข


-เมื่อเพื่อนรายงานเสร็จอาจารย์ได้จำลองสถานการณ์เรื่องความชอบกินส้มตำกับลาบไก่ เป็นการสอนหลักการ1ต่อ1โดยการจับคู่ เป็นวิธีการสอนโดยการจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัยเข้าใจได้ง่าย

-อาจารย์ได้ตั้งคำถาม "คณิตศาสตร์อยู่ทุกหนแห่ง" และ "ใช้คณิตศาสตร์เมื่อ..." โดยให้เขียนลงกระดาษและอธิบายเป็นรายบุคคลตามหัวข้อ

-สุดท้ายอาจารย์ได้เปิดเพลงและให้พวกเราปรบมือตามจังหวะ และเขียนจังหวะเพลงใส่กระดาษโดยใส่สัญลักษณ์แทนลงไป และให้ร้องเพลงเกี่ยวกับคณิตศาสตร์


>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังอาจารย์
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังและตอบคำถามอาจารย์ ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม
 ประเมินผู้สอน      อาจารย์สอนและอธิบายซ้ำเพื่อความเข้าใจของนักศึกษา และคอยแนะนำส่งเสริมเพิ่มเติม                           ในการอธิบายของนักศึกษา


บันทึกการเรียนครั้งที่ 6
วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้อาจารย์อธิบายถึงทฤษฎีการเรียนรู้ของนักการศึกษาและอธิบายให้เข้าใจเรื่องของขอบข่ายหลักสูตรคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย และหลักการพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ตามหลักเพียเจท์
         เพียเจท์  ได้แบ่งพัฒนาการทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กเป็น 2 ชนิด  ดังนี้1.ความรู้ทางกายภาพ   เช่น เครื่องเล่นสนามเด็กเล่น  รูปทรงบล็อกต่างๆ2.ความรู้ด้านเหตุผลทางคณิตศาสตร์  เช่น  การแบ่งสี   การบวกเลขลบเลข

ขอบข่ายของหลักสูตรคณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย
  1. การนับ(Counting)  การนับจำนวนรูปภาพ,การนับจำนวนเด็กในห้องเรียน
  2. ตัวเลข(Number)  การอ่านวันที่,การชั่งน้ำหนัก-ส่วนสูง
  3. การจับคู่ (Matching)  การจับคู่ภาพเหมือนผลไม้,การจับคู่ภาพที่แตกต่างจากพวก
  4. การจัดประเภท(Classification)  การจัดหมวดหมู่เครื่องเขียน,การจัดหมวดหมู่เครื่องแต่งกาย
  5. การเปรียบเทียบ(Comparing)  การเปรียบเทียบราคาผักแพงกว่า-ถูกกว่า
  6. การจัดลำดับ(Ordering)  การจัดลำดับส่วนสูงของเด็กในห้องเรียน,การจัดลำดับดินสอยาว-สั้น
  7. รูปทรงและเนื้อที่(Shape and space)  รูปทรงเรขาคณิต
  8. การวัด(Measurement)  การวัดพื้นที่สนามเด็กเล่น,การวัดส่วนสูง
  9. เซต(Set)  การจัดกลุ่มระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง,การจัดกลุ่มระหว่างผมยาว-ผมสั้น
  10. เศษส่วน(Fraction)  การนับลูกชิ้นในไม้เสียบ,การนับขนมในห่อ
  11. การทำตามแบบและลวดลาย(Patterning)  การวาดรูปตามที่กำหนด,การเขียนตามเส้นปะ ก-ฮ
  12. การอนุรักษ์ หรือการคงที่ด้านปริมาณ(Conservation)  การนำวัสดุธรรมชาติมาประดิษฐ์ของเล่น

หลักการพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์ตามแนวทางการจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์แก่เด็กปฐมวัย

1.ให้เด็กเรียนจากประสบการณ์ตรงจากของจริง ดังนั้นการสอนจะต้องหาอุปกรณ์ที่เป็นของจริงให้มากที่สุด และต้องสอนจากรูปธรรมไปหานามธรรม ดังนี้
   1.1 ขั้นใช้ของจริง เมื่อจะให้เด็กนับหรือเปรียบเทียบสิ่งของควรใช้ของจริง เช่น ผลไม้ ดินสอ
   1.2 ขั้นใช้รูปภาพแทนของจริง ถ้าหากหาของจริงไม่ได้ก็เขียนรูปภาพแทน
   1.3 ขั้นกึ่งรูปภาพ คือ สมมติเครื่องหมายต่าง ๆ แทนภาพหรือจำนวนที่จะให้เด็กนับหรือคิด
   1.4 ขั้นนามธรรม ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายที่จะใช้ ได้แก่ เครื่องหมายบวก ลบ
2.เริ่มจากสิ่งที่ง่าย ๆ ใกล้ตัวเด็ก จากง่ายไปหายาก
3.สร้างความเข้าใจและรู้ความหมายมากกว่าให้เด็กท่องจำ
4.ฝึกให้คิดจากปัญหาในชีวิตประจำวันของเด็ก เพื่อขยายประสบการณ์ให้สัมพันธ์กับประสบการณ์เดิม
5.จัดกิจกรรมให้เกิดความสนุกสนาน และได้รับความรู้ไปด้วย เช่น
   5.1 เล่นเกมต่อภาพ จับคู่ภาพ ต่อตัวเลข
   5.2 เล่นต่อบล็อก ซึ่งมีรูปร่างและขนาดต่างๆ
   5.3 การเล่นในมุมบ้าน เล่นขายของ
   5.4 แบ่งสิ่งของเครื่องใช้ แลกเปลี่ยนสิ่งของกัน
   5.5 ท่องคำคล้องจองเกี่ยวกับจำนวน
   5.6 ร้องเพลงเกี่ยวกับการนับ
   5.7 เล่นทายปัญหาและตอบปัญหาเชาวน์


  • คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนาสติปัญญา
  • ขั้นอนุรักษ์หมายถึงเด็กบอกหรือสรุปตามสิ่งที่ตาเห็น
  • ผ่านขั้นอนุรักษ์หมายถึงเด็กตอบโต้โดยใช้เหตุผลได้
  • การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์จัดให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กสอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้


>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังอาจารย์และช่วยตอบคำถาม แต่งกายถูกตามระเบียบ
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังและตอบคำถามอาจารย์
 ประเมินผู้สอน      อาจารย์สอนเข้าใจง่ายค่ะ อธิบายและให้Keywordเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น


บันทึกการเรียนครั้งที่ 7
วันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้ฉันป่วยเนื่องจากปวดประจำเดือนฉันจึงหยุดเรียน1วัน เมื่อสอบถามจากเพื่อนจึงทราบว่าอาจารย์สอนเนื้อหาดังต่อไปนี้ (สอบถามและดูตัวอย่างBlogจาก นางสาวสุชัญญา บุญญะบุตร)

เมื่อต้องการจะสอนเด็กให้ดูจากหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เป็นหลักในการจัดกิจกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของตัวเด็ก
            สาระการเรียนรู้มี 2 ส่วน ดังนี้1.ประสบการณ์สำคัญ ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์-จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา2.สาระที่ควรเรียนรู้ ได้แก่ เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก  ธรรมชาติรอบตัวเด็ก และสิ่งต่างๆรอบตัวเด็กโดยดูจากความสนใจของเด็ก เมื่อเด็กมีความสนใจก็นำไปทำเป็นProject Apporach และต้องให้เหมาะสมกับพัฒนาการสอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กโดยให้เด็กได้ลงมือกระทำกับวัตถุด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เลือกและตัดสินใจได้อย่างอิสระถ้าเด็กมีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าเกิดการเรียนรู้ แต่ถ้าเด็กไม่มีการเปลี่ยนแปลงแสดงว่าไม่เกิดการรับรู้
การนำเสนองานของเพื่อนๆ
1.บทความ เสริมการเรียนเลขให้กับลูก
2.วิจัย  เรื่อง ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเพาะปลูกพืช


บันทึกการเรียนครั้งที่ 8
วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<

วันนี้เรียนในเรื่องของ สาระสำคัญทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย6สาระ

  สาระที่1 : จำนวนและการดำเนินการ : เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวน และการใช้จำนวนในชีวิตจริง
  สาระที่ 2 : การวัด : เข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการวัด ความยาว น้ำหนัก ปริมาตร เงินและเวลา
  สาระที่ 3 : เรขาคณิต : รู้จักใช้คำในการบอกตำแหน่ง ทิศทาง และระยะทาง รู้จักจำแนกรูปเรขาคณิต และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงรูปเรขาคณิตที่เกิดจากการจัดกระทำ
  สาระที่ 4 : พีชคณิต : เข้าใจแบบรูปและความสัมพันธ์
  สาระที่ 5 : การวิเคราะห์ข้อมูลและความน่าจะเป็น : รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อม 
และนำเสนอ
      สาระที่ 6 : ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ครูควรคอยสอดแทรกทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ตามความเหมาะสมกับระดับอายุ

 อาจารย์ให้ออกแบบกิจกรรมทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยทั้ง6สาระ

วันนี้มีเพื่อนออกมานำเสนอสื่อการสอนคณิตศาสตร์


>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเรียนตรงเวลา แต่งกายถูกตามระเบียบ ตั้งใจฟังอาจารย์และปฏิบัติตามคำสั่ง
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา มีคุยกันบ้างเล็กน้อย
 ประเมินผู้สอน      อาจารย์แนะนำและอธิบายส่วนที่ไม่เข้าใจให้อย่างชัดเจน


บันทึกการเรียนครั้งที่ 9
วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้ฉันหยุดเรียนเนื่องจากต้องกลับบ้านต่างจังหวัดกระทันหัน เมื่อสอบถามจากเพื่อนจึงทราบว่าอาจารย์สอนเนื้อหาดังต่อไปนี้ (สอบถามและดูตัวอย่างBlogจาก นางสาวสุชัญญา บุญญะบุตร)

 ก่อนการเริ่มเรียนวันนี้มีเพื่อนๆออกมานำเสนอ   ได้แก่
1.เรื่อง การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์การนับจำนวนผลแอปเปิ้ล    
2.การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์การสอนคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน
3.การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์การสอนนับเลข 1-10



       ต่อมาเป็นการระบายสีเป็นรูปทรงบนแผ่นกระดาษโดยระบายให้เป็นรูปทรงให้ได้เยอะมากที่สุดแล้วตัดออกมาเป็นรูปทรงนั้นๆค่ะ

       ต่อมาเป็นการตัดกระดาษตามที่วาดรูป  แล้วนำส่วนที่เป็นเงาไปวางเรียงกัน  ให้นำรูปภาพมาวางให้ถูกคู่กัน  เรียนรู้ในเรื่อง  สมมาตร  สามารถนำไปจัดกิจกรรมให้เด็กๆได้เรียนรู้ในเรื่อง สมมาตร ได้ค่ะ

สุดท้ายเป็นกิจกรรมนับหมวก มีหมวกสีแดงและหมวกสีน้ำเงิน  โดยใช้สีเป็นเกณฑ์ในการวางจัดเรียงให้ถูกต้อง  การเรียงใหม่ต้องเรียงจากซ้ายไปขวาเสมอๆ   ผลสรุป คือ หมวกสีแดงเหลืออยู่ 1 ใบ แสดงว่า หมวกสีแดงมากกว่าหมวกสีน้ำเงินอยู่ 1 ใบ  เรียนรู้ในเรื่องการเปรียบเทียบ


บันทึกการเรียนครั้งที่ 10
วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
ก่อนจะเริ่มเรียนในวันนี้มีเพื่อนนำเสนอบทวิจัย2เรื่อง และสื่อการสอนคณิตศาสตร์1เรื่อง



เมื่อเพื่อนนำเสนอบทความเสร็จอาจารย์ให้นักศึกษาจับคู่ช่วยกันออกแบบสื่อคณิตศาสตร์จากแผงไข่
คู่ของดิฉันออกแบบเป็นเรื่องของการบวกเลข แล้วนำฝาขวดน้ำมาวางในแผงไข่แต่การออกแบบครั้งนี้อาจจะยังไม่เป็นรูปร่างสักเท่าไหร่ แต่อาจารย์ก็คอยแนะนำและเป็นไกด์นำทางให้คิดออก

เมื่ออาจารย์ให้งานพวกเราเสร็จ อาจารย์ก็จะขอดูความคืบหน้าในสัปดาห์ต่อไป

ภาพระหว่างที่ฉันและเพื่อนช่วยกันออกแบบสื่อกรสอน
>การประเมิน<
 ประเมินตนเอง     มาเข้าเรียนช้ากว่าเพื่อนนิดหน่อย แต่ก็ตั้งใจฟังอาจารย์และตั้งใจออกแบบสื่อ
 ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา มีคุยกันเรื่องออกแบบสื่อเสียงดังบ้าง
 ประเมินผู้สอน      อาจารย์แนะนำและคอยไกด์ว่าควรทำสื่อแบบใด ทำให้เข้าใจและผลิตสื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น



บันทึกการเรียนครั้งที่ 11
วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<

วันนี้อาจารย์ตรวจเช็คความคืบหน้าของสื่อที่ให้ออกแบบไปเมื่อการเรียนครั้งก่อนเพื่อแนะนำให้นักศึกษาทำเพิ่มเติมตามคำแนะนำของอาจารย์ ในสื่อที่ฉันออกแบบนั้นอาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กปฐมวัยจึงต้องระมัดระวังในการใช้สื่อ และควรทำความเข้าใจมากกว่านี้





>การประเมิน<
ประเมินตนเอง     เข้าเรียนตรงเวลาแต่งกายถูกระเบียบ ตั้งใจฟังสิ่งที่อาจารย์เสนอแนะและนำไปปรับปรุง
ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลามีคุยกันบ้างเล็กน้อยตอนที่อาจารย์กำลังเสนอแนะของเพื่อนกลุ่มอื่นประเมินผู้สอน      อาจารย์แนะนำและเสนอแนะอย่างเข้าใจค่ะ


บันทึกการเรียนครั้งที่ 12
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้อาจารย์ให้ออกมานำเสนองานสื่อของแต่ละคู่ โดยการให้นำสื่อของคู่ตนเองออกมาเล่นให้เพื่อนๆคนอื่นดู คนเพื่อยบางคู่ก็ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดอีกเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจและใช้สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ







ต่อมาอาจารย์ให้นักศึกษาออกมานำเสนอวิจัย บทความ และสื่อการสอนคณิตศาสตร์ และท้ายคาบอาจารย์ให้ทดสอบการเขียนกรอบมาตรฐานสาระทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

>การประเมิน<
ประเมินตนเอง     เข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจฟังสิ่งที่อาจารย์เสนอแนะและนำไปปรับปรุง
ประเมินเพื่อน       เพื่อนคุยกันบ้างเล็กน้อยตอนที่อาจารย์กำลังเสนอแนะของเพื่อนกลุ่มอื่น
ประเมินผู้สอน      อาจารย์แนะนำวิธีการปรับแก้งานอย่างเข้าใจค่ะ


บันทึกการเรียนครั้งที่ 13
วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
วันนี้อาจารย์ให้พวกเรานำเสนอสื่อ การจัดประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ในห้องเรียน






เมื่อนำเสนออาจารย์เสร็จแล้วอาจารย์ได้สอนต่อเรื่องการประเมินพัฒนาการเด็ก  มี 4 รูปแบบ ดังนี้
1.แบบบันทึก  จดรายละเอียดของเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ2.การสนทนากับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง3.การเก็บผลงานของตัวเด็ก โดยดูจากหลายชิ้นงานเปรียบเทียบพัฒนาการของเด็ก ถ้าไม่ดีก็ให้ปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม4.การสัมภาษณ์  ส่วนมากใช้ในงานวิจัยต่างๆ          การประเมินสภาพจริง คือ การขอความร่วมมือจากผู้ปกครองในการประเมินพัฒนาการเด็กร่วมกันกับคุณครู

>การประเมิน<
ประเมินตนเอง     เข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจนำเสนอสื่อและนำคำแนะนำไปปรับใช้ค่ะ
ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา แต่งกายถูกระเบียบ ฟังสิ่งที่อาจารย์เสนอแนะ
ประเมินผู้สอน      อาจารย์แนะนำวิธีการสอนสื่อให้เด็กอย่างเข้าใจค่ะ



บันทึกการเรียนครั้งที่ 14
วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

>ความรู้ที่ได้รับ<
อาจารย์ให้ออกมานำเสนอสื่อที่ให้น้องๆได้เล่นจริงว่าเป็นอย่างไรบ้าง



ในการใช้สื่อการสอนของดิฉันนั้น เราต้องเริ่มจากการถามประสบการณ์หรือความรู้เดิมของเด็กก่อน และจึงให้เด็กๆร่วมกันเล่นได้ เพราะสื่อการสอนของดิฉันอาจจะยากเกินไปสำหรับเด็กบางคน

การทำกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางคณิตศาสตร์สำหรับผู้ปกครอง


>การประเมิน<
ประเมินตนเอง     เข้าเรียนตรงเวลาตั้งใจฟังเมื่ออาจารย์แนะนำ
ประเมินเพื่อน       เพื่อนเข้าเรียนตรงเวลา แต่งกายถูกระเบียบ ฟังสิ่งที่อาจารย์เสนอแนะ
ประเมินผู้สอน      อาจารย์คอยแนะนำส่วนที่ต้องปรับปรุงตลอดค่ะ